MIND MAP : แผนที่ความคิด
เครื่องมือจดบันทึกความคิดของเราเปรียบเสมือนการจำลองความคิดจากสมองลงสู่กระดาษ โดยออกมาในลักษณะคล้ายแผนที่ แผนภาพที่แตกแขนงออกเหมือนกิ่งไม้ และเชื่อมโยงกัน เหมือนเซลล์ประสาทในสมอง โดยจะใช้ภาพ เส้น สี สัญลักษณ์ และคำสำคัญ มาใช้วาดจากตรงกลางแล้วกระจายความคิดออกไป แทนการเขียนบันทึกด้วยตัวอักษรเรียงเป็นบรรทัดยาว ๆ
การนำ MIND MAP ไปใช้ จะใช้เมื่อไหร่ ????
- ใช้ระดมพลังสมอง
- ใช้นำเสนอข้อมูล
- ใช้จัดระบบความคิดและช่วยความจำ
- ใช้วิเคราะห์เนื้อหาหรืองานต่าง ๆ
- ใช้สรุปหรือสร้างองค์ความรู้
หลักการเขียน MIND MAP
1. ตั้งต้นกระดาษเป็นแนวนอน เหมือนการจำลองการทำงานของสมอง เริ่มต้นวาดจากที่จุดกึ่งกลางกระดาษด้วย “ใจความสำคัญ” หรือ “Key Concept” หรือ “แก่นกลาง” ของเรื่องที่จะบันทึก
2. จับประเด็นลากเส้น “คำสำคัญ” หรือ “Key Word” โดยลากออกจากแก่นกลาง ซึ่งเรียกว่า “กิ่งแก้ว” เพื่อขยายความใจความสำคัญ และหากมีประเด็นย่อยที่ขยายใจความรอง จึงลากเส้นต่อขยายเราเรียกว่า “กิ่งก้อย” ทั้งนี้ การจับประเด็นไม่ควรเขียนประโยคยาว ๆ แต่ให้สรุปใจความสั้น ๆ
ทั้งนี้ สามารถใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์แทนคำสำคัญ โดยใช้ปากกาหลากสีแทนกิ่งแก้ว วาดเส้นให้โค้งแทนเส้นตรง เส้นจะลากออกจากตรงกลางใจความสำคัญ เส้นกิ่งแก้วและกิ่งก้อยเป็นสีเดียวกัน
หลักการจับประเด็นสำคัญประกอบการทำ MIND MAP คือ
1. การจับประเด็นจะประกอบไปด้วยใจความหลักและใจความรอง โดยการจับประเด็นใจความหลักจะใช้หลัก 5W 1H ซึ่งประกอบด้วย ใคร ทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ และทำอย่างไร เพื่อหาคำสำคัญในใจความสำคัญที่ต้องการบันทึก
2. ผู้บันทึกสามารถจับความสำคัญรองได้จากบริบทประกอบ ท่าทาง น้ำเสียง แววตาที่ผู้ถ่ายทอดต้องการสื่อสาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบใจความสำคัญ
เทคนิคการจับประเด็น
- ฟังอย่างมีสมาธิ ไม่วอกแวก หรือคิดถึงสิ่งอื่น
- จับประเด็นของผู้พูดให้ได้เร็วที่สุด เขียนไว้กลางหน้ากระดาษ
- จับคำสำคัญในประเด็นที่ฟัง ได้ประเด็นรอง นำมาเขียนต่อกับประเด็นหลักในคำสำคัญ จับประเด็นย่อยๆ นำมาเชื่อมโยงกัน โดยใช้สีและเส้นเป็นตัวเชื่อมโยง
ข้อควรระวังระหว่างการจับประเด็น
- ฟังไม่ทัน (มีสมาธิ ตั้งใจฟัง)
- จับประเด็นไม่ถูก แยกไม่ออกไม่รู้ว่าควรเป็นหมวดใด กลุ่มใด (จับคำสำคัญ)
- ไม่รู้ว่าจะวางเรื่องอย่างไร อันไหนควรเป็นเรื่องหลัก (จุดประสงค์/เป้าหมาย) เรื่องรองหรือเรื่องย่อย ๆ ลงมา (เสริมให้สมบูรณ์มากขึ้น)
ตัวอย่างแผนที่ความคิด (MIND MAP)